ข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษา
เพื่อให้การพัฒนานักศึกษาในด้านความประพฤติ บุคลิกภาพ คุณธรรม และจริยธรรม เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 สภาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ในการประชุม ครั้งที่ 28-1/2553 เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคมพ.ศ.2553 มีมติให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ. 2553”
ข้อ 2. ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3. ในข้อบังคับนี้
สถาบัน หมายถึง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
คณะ หมายถึง คณะวิชาที่นักศึกษาสังกัดอยู่
อธิการบดี หมายถึง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
นักศึกษา หมายถึง นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
คณะกรรมการสอบสวน หมายถึง คณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดวินัย
ข้อ 4. เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเรียบร้อยและเกียรติของสถาบัน และเพื่อให้นักศึกษาทุกคนมีความประพฤติที่ดีงาม มีความตั้งใจต่อการศึกษาเล่าเรียน นักศึกษาต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามความในหมวดที่ 15 เรื่องมารยาทและความประพฤติของนักศึกษา แห่งข้อบังคับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ.2549 ดังนี้
4.1 นักศึกษาต้องประพฤติตน เคารพต่อระเบียบ ข้อบังคับของสถาบัน หรือคำสั่งโดยชอบ ของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบันโดยเคร่งครัด
4.2 นักศึกษาต้องแต่งกายถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของสถาบัน หากเป็นเวลาปิดทำการนักศึกษาประสงค์จะเข้ามาในบริเวณสถาบันจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย อนึ่งนักศึกษาต้องพกบัตรประจำตัวนักศึกษาด้วยทุกครั้งที่เข้าในสถาบัน
4.3 นักศึกษาต้องแสดงความสุภาพอ่อนโยนและสัมมาคารวะต่อคณาจารย์และผู้อาวุโส
4.4 นักศึกษาไม่เล่นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าในกรณีใดๆ ในการเล่นการพนันหรือมีอุปกรณ์สำหรับเล่นการพนันไว้ในครอบครองเป็นอันขาด
4.5 นักศึกษาไม่พกอาวุธหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งอาวุธหรือสิ่งซึ่งสามารถใช้เป็นอาวุธหรืออาจใช้ต่างอาวุธภายในบริเวณสถาบัน
4.6 นักศึกษาต้องไม่นำสิ่งเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายทุกประเภท รวมทั้งสุราเมรัยและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้ามาในบริเวณสถาบัน พร้อมทั้งจะต้องไม่ทำตนเป็นผู้เสพติดสุราเมรัย เครื่องดองของเมาและสิ่งเสพติดอื่นๆ ทั้งสิ้น
4.7 นักศึกษาต้องไม่ลักขโมยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่ากรณีใดๆ หรือมีไว้ซึ่งสิ่งของที่ได้มาจากการลักขโมย รวมทั้งต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการยุยง ส่งเสริม สนับสนุนเพื่อให้เกิดการลักขโมยทั้งสิ้น
4.8 นักศึกษาต้องไม่มีส่วนพัวพันหรือร่วมกระทำความผิดในทางอาญา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของสถาบัน สำหรับนักศึกษาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันหรือเป็นผู้ก่อเหตุเป็นคดีถึงพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จะต้องรีบรายงานพฤติการณ์นั้นๆ ต่ออาจารย์ที่ปรึกษาของตนทันที
4.9 นักศึกษาต้องไม่กระทำหรือส่อให้เห็นด้วยพฤติการณ์ใดๆ ก็ตาม ว่าเป็นผู้กระทำหรือผู้นำหรือพยายามกระทำ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการกระทำ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายไม่ว่าในทางใดๆ แก่ระเบียบแบบแผนและวินัย ตลอดจนความสงบเรียบร้อย ความเจริญและเกียรติคุณของสถาบัน
4.10 นักศึกษาต้องไม่กระทำการหรือพยายามกระทำ หรือกระทำการด้วยประการอื่นใดในการก่อกวนหรือเข้าร่วมในการทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายไม่ว่ากับผู้ใดเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง สิทธิ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือเป็นการก่อกวนให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
4.11 นักศึกษาต้องปฏิบัติตนเยี่ยงสุภาพชนถ้าไปในที่ชุมชนหรือสาธารณสถาน ห้ามพูดตลกคะนอง หยาบคาย การใช้วาจาและท่าทางในการพูดหยอกล้อกันต้องให้สุภาพสมเกียรติศักดิ์และชื่อเสียงของสถาบัน
4.12 นักศึกษาต้องไม่อยู่ในบริเวณสถาบันเกิน 24.00 น. หมายรวมถึงห้ามนักศึกษาค้างแรมในสถาบันด้วยเว้นแต่ว่าได้รับอนุญาตจากสถาบันในโอกาสที่มีกิจกรรมต่างๆ
4.13 นักศึกษาที่มีความประสงค์จะเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อทำกิจกรรมนักศึกษาเป็นหมู่คณะ ให้เสนอโครงการต่อผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษา เพื่อพิจารณาตรวจโครงการเดินทางให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน แล้วรายงานตามลำดับขั้น เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วจึงจะออกเดินทางได้
4.14 นักศึกษาที่ประสงค์จะจัดหรือแสดงการละเล่นใดๆ ในที่สาธารณะในนามของนักศึกษาสถาบัน ให้เสนอผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษา แล้วรายงานตามลำดับขั้นเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนจัดการแสดง
4.15 นักศึกษาประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือ ตำรา หรือสิ่งพิมพ์ใดๆ ต้องเสนอผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษาแล้วรายงานตามลำดับขั้น เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะพิมพ์ได้
ข้อ 5. โทษผิดวินัยมีดังต่อไปนี้
5.1 ตักเตือน สั่งสอน หรือแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
5.2 ให้ทำทัณฑ์บน
5.3 ตัดคะแนนความประพฤติ
5.4 สั่งให้พักการเรียน
5.5 ระงับสิทธิ์เข้าสอบไล่
5.6 ตัดสิทธิ์ในการรับปริญญาบัตรเมื่อสำเร็จการศึกษา
5.7 จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ 6. นักศึกษาผู้ใดกระทำความผิด โดยไม่ปฏิบัติตามวินัยตามความในข้อ 4.1 – ข้อ 4.15 ให้ลงโทษตามควรแก่กรณีด้วยการตักเตือน สั่งสอน หรือแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ สั่งให้พักการเรียน ระงับสิทธิ์เข้าสอบไล่ ตัดสิทธิ์ในการรับปริญญาบัตรเมื่อสำเร็จการศึกษาและจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาตามแก่กรณีที่ได้กระทำความผิด
ข้อ 7. ให้อธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดวินัยซึ่งเข้าลักษณะที่อาจได้รับโทษ ตั้งแต่สั่งให้พักการเรียน ระงับสิทธิ์เข้าสอบไล่ ตัดสิทธิ์ในการรับปริญญาบัตรเมื่อสำเร็จการศึกษาและจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ยกเว้นกรณีความผิดปรากฏชัดแจ้ง แล้วให้เสนอผลการสอบสวนต่ออธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายเพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อ 8. เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง พฤติการณ์และพยานหลักฐานต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดวินัยและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำความผิดวินัยนั้น ให้คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้
8.1 เรียกตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดวินัย
8.2 เรียกและสอบสวนนักศึกษาผู้กระทำผิดวินัย หรือผู้อื่นที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
8.3 ลงโทษนักศึกษาผู้ขัดขืน ไม่ให้ความร่วมมือ กล่าวข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด
ข้อความจริง ต่อคณะกรรมการสอบสวน ฐานเป็นผู้กระทำความผิดวินัย
ข้อ 9. นักศึกษาผู้ใดถูกสั่งลงโทษทางวินัยถึงขั้นจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาตามข้อ 5.7 ให้นักศึกษาผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์โดยยื่นต่ออธิการบดี และให้อุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะอุทธรณ์แทนผู้อื่นหรือมอบหมายให้ผู้อื่นอุทธรณ์แทนมิได้ การอุทธรณ์ให้ทำภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
ข้อ 10. นักศึกษาผู้ใดถูกสั่งลงโทษทางวินัยถึงขั้นจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาตามข้อ 5.7 จะไม่มีสิทธิสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอีก
ข้อ 11. นักศึกษาที่กระทำผิดวินัยก่อนวันที่ข้อบังคับนี้บังคับใช้
11.1 ถ้ายังไม่ได้รับโทษฐานกระทำผิดวินัย ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของสถาบันที่มีอยู่เดิม
11.2 หากระเบียบหรือข้อบังคับเดิมของสถาบัน และข้อบังคับใดข้อบังคับหนึ่ง จะเป็นคุณแก่นักศึกษายิ่งกว่า ก็ให้ดำเนินการตามข้อบังคับนั้น
ข้อ 12. หากข้อบังคับใดไม่ชัดเจนในการตีความ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ข้อ 13. ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศคำสั่ง หรือกำหนดแนวทางให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับนี้
——————————————————————————————-